วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2561

จากสาย สีมา ถึงพิภพ ธงไชย และครูรัชนี

จากสาย สีมา
ถึงพิภพ ธงไชย และครูรัชนี

๑.

สาย สีมา คือ พระเอกในนวนิยายเรื่อง ”ปีศาจ” ของ เสนีย์ เสาวพงศ์

เสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นนามปากกาของ ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ คนบางบ่อ สมุทรปราการ 
เกิดในกระท่อมกลางทุ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ เดิมชื่อ ”บุญส่ง” เรียนจบ ม.๘ แล้ว 
สามารถสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ แต่เรียนได้ไม่ถึงเดือนก็ต้องลาออก
เพราะเสาหลักของครอบครัว คือ พ่อเสียชีวิต ทำให้ไม่มีเงินส่งเสีย จึงต้องเบนเข็มไป
หาตลาดวิชา คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งสามารถทำงานไปเรียนไปได้

เสนีย์ เขียนเรื่องสั้นหลายเรื่อง และเขียนนวนิยาย ”ชัยชนะของคนแพ้” 
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ และเขียน ”ความรักของวัลยา”  
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ ก่อนจะมาเขียน “ปีศาจ” ลงเป็นตอน ๆ ในนิตยสารรายสัปดาห์สยามสมัย 
ช่วง พ.ศ. ๒๔๙๖-๒๔๙๗

ช่วงที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร เสียงตอบรับของผู้อ่านคือ “ความเงียบ”
ไม่มีจดหมายถึงบรรณาธิการแสดงความเห็นต่อนวนิยายเรื่องนี้เลย
และไม่มีใครขอต้นฉบับไปพิมพ์รวมเล่ม

ต่อมาหลังจากนวนิยายเรื่องนี้มีชื่อเสียงโด่งดัง โดยเฉพาะช่วงหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ 
มีการพิมพ์นิยายเรื่องนี้ออกขายมากมาย นักศึกษาบางกลุ่มพิมพ์ขายโดยไม่มีการขอลิขสิทธิ์ 
ก็สามารถทำรายได้นำไปทำกิจกรรมได้ไม่น้อย จนกระทั่ง ขรรค์ชัย ขุนปาน ตัดสินใจกู้เงิน
มาสร้างเป็นภาพยนตร์ตามคำแนะนำของเจน เจตนธรรม และพงษ์ศักดิ์ พยัคฆวิเชียร 
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ หนังออกฉายที่โรงภาพยนตร์โคลีเซียม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ ฉาย ๓ รอบ 
รอบแรกมีคนดูไม่ถึง ๑๕ คน รอบสอง ๘ คน รอบสาม ๕ คน ทำให้ขรรค์ชัยมีหนี้ก้อนโต 
เกือบ ๑๐ ล้าน ต้องผ่อนใช้เป็นสิบปี

นวนิยาย ปีศาจ ไม่สาบสูญไปจากวงวรรณกรรม แต่กลับกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้แก่
คนหนุ่มสาวจำนวนมาก เพราะคำสิงห์ ศรีนอก เจ้าของนามปากกา “ลาว คำหอม”
ร่วมกับเพื่อนตั้งสำนักพิมพ์เกวียนทอง และขออนุญาตพิมพ์ปีศาจเป็นเล่มครั้งแรก
โดยเสนอค่าลิขสิทธิ์ ๑๐% ตามมาตรฐานสากล

ผู้ที่ชื่นชมนวนิยายเรื่องนี้ คือ อัศนี พลจันทร์ เพื่อนของเสนีย์ที่ธรรมศาสตร์ ใช้นามปากกา
“หง เกลียวกาม” ลงคอลัมน์ “จดหมายในหมู่มิตร” ในนิตยสารรายเดือน “สายธาร”
เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๐๑ ว่า

เสนีย์ “เป็นนักเขียนที่ก้าวหน้าและมีเทคนิคการเขียนสูง” ผ่านประสบการณ์การต่อสู้มากมาย
ปีศาจจึงเป็น “นวนิยายที่ดีเยี่ยมหนึ่งในทศวรรษนี้” ที่นักเขียนคนอื่นควรจะดำเนินรอยตาม”

เสนีย์ เสาวพงศ์ เขียนนวนิยายเรื่องนี้ เมื่ออายุ ๓๕-๓๖ ปี พอ ๆ กับเมื่อตอลสตอย
เขียน”สงครามและสันติภาพ” เสนีย์ “ผ่านประสบการณ์การต่อสู้มากมาย”
ตามปากคำของอัศนี พลจันทร์ นอกจากความยากจนแล้ว ช่วงสงครามเสนีย์ทำงานเป็น
”หน้าห้อง” ของ ดร.ดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 
ชีวิตต้องเสี่ยงตลอดเวลา เช่น ต้องเป็นผู้ประสานติดต่อกับหลวงอดุลยเดชจรัส
อธิบดีกรมตำรวจขณะนั้น ซึ่งตัดสินใจมาร่วมขบวนการลับ คือ เสรีไทย

“คุณศักดิ์ชัยหัวใจแทบวาย เมื่อคุณหลวงอดุลฯ มาหาคุณดิเรก ตอนเดินออกจากกระทรวง 
ท่านไม่ให้คุณศักดิ์ชัยเดินตามท่าน หากให้เดินไปข้างหน้า เผื่อใครลอบยิงท่าน
จะได้ยิงคุณศักดิ์ชัยก่อน”

“นอกจากเสี่ยงชีวิตแทนรัฐมนตรี เขายังต้องดูแลทหารอังกฤษที่ลักลอบเข้ามาทำงานกับ
ขบวนการเสรีไทย ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ท่าพระจันทร์
สถานที่ที่ปรีดี พนมยงค์  ใช้ดำเนินกิจกรรมต่อต้านญี่ปุ่นอย่างลับๆ”

หลังสงครามไม่นาน เกิดกรณีสวรรคต เกิดรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ เสนีย์ไม่มีโอกาสเลือก
ไปเป็นข้าราชการสถานทูตในยุโรปอย่างอังกฤษหรือสหรัฐ แต่ต้องไปอยู่โซเวียต 
ซึ่งไทยต้องยอมเปิดความสัมพันธ์ด้วยเพื่อให้มีโอกาสเป็นสมาชิกสหประชาชาติ 
ระหว่างนั้นได้มีโอกาสไป “เปิดหูเปิดตา” ในต่างแดน การได้เดินทางไปปารีส 
ทำให้เกิดนิยาย “ความรักของวัลยา” ในเวลาต่อมา

ก่อนประพันธ์นวนิยายเรื่อง ”ปีศาจ” เสนีย์สมรสกับ ”เครือพันธ์ ปทุมรส” บุตรสาว
อดีตราชเลขาธิการ เฉลียว ปทุมรส ๑ ใน ๓ จำเลยคดีสวรรคต ซึ่งถูกประหารชีวิต
โดยทนาย ๒ คน คนหนึ่งถูกยิง อีกคนหายสาบสูญและเครือพันธ์ ต้องเป็นทนายว่าความ
ให้พ่อเอง วันที่พ่อถูกประหารชีวิต เครือพันธ์ “ยืนกอดอกน้ำตาไหล”

ขณะเขียน “ปีศาจ” เสนีย์ เสาวพงศ์จึงได้ ”ผ่านประสบการณ์การต่อสู้มากมาย” 
จริงตามที่ อัศนี พลจันทร์ เขียนไว้

นวนิยายปีศาจ ที่สำนักพิมพ์เกวียนทองรวมเล่มพิมพ์จำหน่ายครั้งแรกไม่นาน
ก็เกิดรัฐประหาร ๒ ครั้ง ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ กันยายน ๒๕๐๐
และตุลาคม ๒๕๐๑ นวนิยายเรื่องนี้รอดพ้นจากการเป็นหนังสือต้องห้ามเพราะเจ้าหน้าที่
เข้าใจผิดว่า ”เป็นหนังสือผี” แต่ต่อมา คำสิงห์ ศรีนอก ถูกเตือนให้เก็บหนังสือนี้ออกจาก
ตลาด จึงเอาไปซ่อนไว้ในไร่ที่ปากช่อง นครราชสีมา “ผมเอากระดาษหนังสือพิมพ์ห่อไว้
คิดว่าทำยังไงให้คนได้อ่าน เลยแยกมา ๕๐๐ เล่ม นักกิจกรรม นักศึกษามาหา ผมแจก
รู้ว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้เขาตื่น ผมตื่นจากหลับใหลเพราะเล่มนี้มาแล้ว” 
(รายละเอียดเรื่องนี้โปรดอ่านนิตยสารสารคดี ฉบับกันยายน ๒๕๖๑)

๒.

หลังอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ อำนาจถูกสืบทอดมาสู่
จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร

กิจกรรมของนักศึกษาและปัญญาชนเริ่มฟื้นขึ้น หมุดหมายที่สำคัญ คือ การสัมมนาเรื่อง 
“ความรับผิดชอบทางจริยธรรมเป็นความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ” ที่สำนักกลาง
นักเรียนคริสเตียน กลางวงสัมมนาครั้งนั้น มีการปรากฏตัวของปัญญาชนสยามคนสำคัญคือ
ส. ศิวรักษ์ และเป็นจุดตั้งต้นของสัมพันธภาพอันยืนยาวกับผู้นำนักศึกษาอีกคนหนึ่งคือ
พิภพ ธงไชย นายกองค์การนักศึกษาวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยการเชื่อมโยง
ของ นิรันดร์ ประดิษฐกุล ประธานนักศึกษาสำนักกลางนักเรียนคริสเตียน ก่อให้เกิด
“สังคมศาสตร์ปริทัศน์ฉบับนิสิตนักศึกษา” และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากรวมทั้งการขยาย
แวดวงการพบปะผู้คนที่มีจริตและอุดมการณ์บางส่วนร่วมกัน

หนึ่งในกัลยาณมิตรที่ได้คบหากันมายาวนานคือ คำสิงห์ ศรีนอก แน่นอนว่าหนึ่งในสถานที่
ที่พบปะเสวนากันคือ ที่ไร่ธารเกษม ของคำสิงห์ ศรีนอก และที่นั่นคนที่รักหนังสือหลายคน
ก็ได้เห็นรวมเรื่องสั้น “ฟ้าบ่กั้น” ของ ลาว คำหอม และนวนิยาย ”ปีศาจ” ของเสนีย์ เสาวพงศ์

๓.

ยุคนั้นเป็นยุค “แสวงหา” คนหนุ่มคนสาวจำนวนหนึ่งรับไม่ได้กับ “นวนิยายน้ำเน่า”
ที่แพร่หลายในนิตยสารต่างๆ หลายคนเมื่อได้อ่าน “ปีศาจ” จึงตื่นเต้นมาก โดยเฉพาะ
กับฉาก “ไคลแมกซ์” ของเรื่องที่สาย สีมา ถูกท่านเจ้าคุณพ่อของรัชนี วางแผน “ฉีกหน้า”
กลางงานเลี้ยงของบรรดา “ผู้ดี” ที่บ้าน แต่กลับถูกสาย สีมา เป็นฝ่ายฉีกหน้า ประกาศว่า

“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า
ทำให้เกิดความละเมอ หวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้
เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที
ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ในคืนวันนี้... ไม่มีทางจะเป็นไปได้ เพราะเขาอยู่ยงคงกระพัน
ยิ่งกว่าอาคิลลิสหรือซิกฟริด...”

สาย สีมา เดินออกจากบ้านคุณพ่อของรัชนีตอนรุ่งสาง “ท่ามกลางแสงสว่าง
เป็นสีเหลืองเป็นสีทอง”

เป็นท้องฟ้าสีเดียวกับที่วิสา คัญทัพ เขียนในบทกวีวรรคทองหลัง ๑๔ ตุลา. ๒๕๑๖ ว่า
“เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”

เสนีย์ เสาวพงศ์ จบเรื่องปีศาจ ด้วยการให้ สาย สีมา ออกจากบ้านหลังนั้น และพบ รัชนี
ทิ้งครอบครัว  ทิ้งบ้าน เพื่อออกไปสู่ชนบท

เราไม่รู้ว่า ทั้ง สาย สีมา และรัชนี จะไปเผชิญชะตากรรมเช่นใด จะสร้างฝันให้สำเร็จได้หรือไม่
จะดับฝันหรือฟันฝ่าไปจนสำเร็จ เพราะเสนีย์คงต้องการให้ผู้คนแต่ละคนไปหาคำตอบเอาเอง

๔.

เมื่อ พิภพ ธงไชย โลดแล่นอยู่ในยุคแสวงหานั้น มี รัชนี โชติกล่อม เดินอยู่เคียงข้างโดยตลอด
ทั้งคู่เรียนมาจากวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา พิภพไปเรียนต่อจนจบปริญญาที่วิทยาลัย
วิชาการศึกษาประสานมิตร เช่นเดียวกับรัชนี ที่ใช้วิชาชีพครูทำงานสอนโดยตรง แต่พิภพ
โลดแล่นอยู่ในวงการหนังสือมากกว่า ทั้งคู่ผ่านเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง คือ
รัฐประหาร ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ของจอมพลถนอม กิตติขจร ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และ
๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๒๒ ทั้งคู่จึงเริ่ม “งานชีวิต” ที่สำคัญ คือ
โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ที่กาญจนบุรี ตอนนั้นพิภพอายุได้ ๓๔ ปี รัชนี อายุ ๓๑ ปี

ภาพของพิภพช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา เป็นภาพของผู้นำทางการเมืองภาคประชาชน
บนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก่อนหน้านั้นพิภพก็มีภาพทางการเมืองมากกว่า
ภาพของครูหรือนักการศึกษา ทั้งในการต่อสู้ช่วงพฤษภาคมเลือด ๒๕๓๕ และในองค์กร
ประชาธิปไตยอย่าง คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แต่โดยธาตุแท้แล้ว
พิภพคือนักการศึกษา และการตัดสินใจสร้างโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ก็เป็นการตัดสินใจ
อันกล้าหาญของพิภพ

ตอนนั้นพิภพกับรัชนีมีลูกชาย ๒ คน ยังเล็กไม่มีหลักประกันอันมั่นคงใดๆ ในชีวิต ไม่มีบ้าน
ไม่มีทรัพย์สินมรดก ไม่มีบำเหน็จบำนาญทั้งของตนเองและภรรยา เมื่อตัดสินใจจะทำ
โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก “ก็อพยพย้ายถิ่นฐาน คืนบ้านพักโรงเรียนของเมียแล้วพาลูกชายสองคน
ลงไปกินนอน สร้างบ้านเรือนกับอาสาสมัครศิลปิน “ชาญ ฮวดสวัสดิ์” และภรรยากับเพื่อนฝูง
โดยไม่รู้ว่าชะตากรรมจะอยู่รอดได้นานแค่ไหน โดย แอ๊ว-รัชนี ธงไชย รับบทเป็นครูใหญ่
บุกเบิกสร้างหมู่บ้านเด็ก...”

งานนี้ “โดยการสนับสนุนของนายแพทย์ประเวศ วะสี และจากการกระตุ้นของเพื่อนชาวเยอรมัน
ชื่อ วอลเตอร์ สะโครบาเนค (Walter Skrobanek) ให้เงินก้อนเล็ก ๆ ก้อนแรกจากองค์การ
แตร์ เด ซอม (Terre des Hommes) เยอรมนีรับเด็กยากจนมากินนอน และสร้างบ้านพักกับ
ห้องเรียนบนหน้าผาริมฝั่งแควน้อย ไทรโยค กาญจนบุรี”

ลองดูตัวเลขงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๒ ของโรงเรียนหมู่บ้านเด็กจากองค์การแตร์ เด ซอม
รวม ๙๒๔,๐๐๐ บาท แยกรายละเอียดดังนี้

งบประมาณโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ประจำปี ๒๕๒๒ จำนวน ๙๒๔,๐๐๐ บาท

- อาคารเรียนขนาด  ๕ ห้องเรียน และหอพัก ๔ หลัง            ๓๖๐,๐๐๐ บาท
- ปรับที่ดินและทำถนน                                                   ๓๕,๐๐๐ บาท
- รถจักรยานยนต์                                                          ๑๕,๐๐๐ บาท
- เครื่องทำไฟฟ้าและการเกษตร                                       ๒๐,๐๐๐ บาท
- เครื่องสูบน้ำและอุปกรณ์                                               ๒๐,๐๐๐ บาท
- เครื่องมือการเกษตรและอุปกรณ์ทั่วไป                               ๗,๗๖๐ บาท
- เครื่องครัว                                                                  ๔,๓๑๖ บาท
- เครื่องนอนเด็ก                                                          ๒๒,๓๒๐ บาท
- เครื่องใช้ส่วนตัวเด็ก                                                      ๑,๒๔๐ บาท
- เครื่องเรียนเด็ก                                                            ๖,๑๔๐ บาท
- หนังสือและอุปกรณ์สำหรับห้องสมุด                                ๑๐,๐๐๐ บาท
- โต๊ะเรียน                                                                    ๖,๐๐๐ บาท

โครงการโรงเรียนสำหรับเด็กกำพร้าที่ยากจน
ค่าใช้จ่ายเด็ก ๔๐ คน คนละ ๒๗๙ บาท/เดือน
(ค่าอาหาร ๒๕๐, เสื้อผ้า ๑๒, อุปกรณ์ ๕, อนามัย ๘, ยารักษาโรค ๔)     ๑๓๓,๙๒๐ บาท

- ครูประจำ ๖ คน ๆ ละ ๒,๑๐๐ บาท/เดือน                                        ๑๕๑,๒๐๐ บาท
- แม่บ้าน ๑ คน ๑,๕๐๐ บาท/เดือน                                                 ๑๘,๐๐๐ บาท
- ผู้ช่วยแม่บ้าน ๒ คนๆ ละ ๑,๐๐๐ บาท/เดือน                                    ๒๔,๐๐๐ บาท
- บริหาร                                                                                   ๓๙,๑๐๔ บาท
- เบ็ดเตล็ดทั่วไป                                                                        ๕๐,๐๐๐ บาท

จะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายกระเบียดกระเสียรเพียงใด เงินเดือนครูคนละ ๒,๑๐๐ บาทต่อเดือน
ค่าใช้จ่ายเด็กเพียงคนละ ๒๗๙ บาทต่อเดือน เป็นค่าอาหาร ๒๕๐ บาท เสื้อผ้า ๑๒ บาท
อุปกรณ์ ๕ บาท อนามัย ๕ บาท ยารักษาโรค ๔ บาท

ยิ่งกว่าค่าใช้จ่ายจำกัดจำเขี่ย ก็คือคำวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ

"ซัมเมอร์ฮิลนะเหรอ ชั้นว่าล้มเหลวตั้งแต่ปรัชญาแล้ว ไม่ต้องเอามาลองใช้กับเมืองไทยหรอก
มีอย่างที่ไหน ปล่อยเด็กไปตามเรื่อง ..."

“เด็กที่นั่นก้าวร้าวจะตาย ผมว่าเลี้ยงเด็กอย่างนี้ล้มเหลวแน่ ๆ ครับ ...”
(จากข้อเขียนของสุภาวดี หาญเมธี ในหนังสือ “ชีวิตจริงที่หมู่บ้านเด็ก” หน้า ๒๔๙)

“ยอมรับตรง ๆ ว่า แต่เดิมผมค่อนข้างจะมีอคติต่ออุดมการณ์ทางการศึกษาที่นายนีล
ชาวสก๊อต ผู้ตั้งโรงเรียนซัมเมอร์ฮิล อันเป็นต้นเค้าของโรงเรียนหมู่บ้านเด็กแห่งนี้...
ที่อคตินั้นเป็นภยาคติ คือกลัวว่าอุดมการณ์เช่นนี้จะไม่มีทางเป็นไปได้ในสังคมพิการ
โลกในซัมเมอร์ฮิลกับโลกความจริงเป็นคนละโลกกัน โรงเรียนหมู่บ้านเด็กนี้ก็เหมือนกัน
เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเด็กจากโรงเรียนนี้จะไปสอบเข้าหรือปรับตัวเข้ากับโรงเรียนอื่น
และอยู่กับสังคมภายนอกได้อย่างไร”
(จากข้อเขียนของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ คนเมืองกาญจน์ ในหนังสือ
”ชีวิตจริงที่หมู่บ้านเด็ก” หน้า ๑๙๐)

แล้วเนาวรัตน์ก็เจอ “ของจริง” เมื่อไปเยือนโรงเรียนหมู่บ้านเด็กช่วงแรก ๆ

ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นที่บนอาคารห้องสมุด ซึ่งผมนอนเล่นอยู่ เด็กชายบ่าวกับเด็กชายหนังยาง
ทั้งคู่อายุราว ๗-๘ ขวบเท่านั้น ก็ซัดกันนัวเนีย แล้วเด็กชายหนังยางผู้บอบบางและเพิ่งฟื้นไข้
ร้องไห้พลางเล่าความให้ครูผู้ดูแลฟัง

“บ่าวเขาต่อยก่อนครับ เขามาเหยียบมือผม”
“ผมไม่ได้ตั้งใจเหยียบ พอจะขอโทษหนังยางมันก็ผลักผมก่อน”
เด็กชายบ่าวตัวดำท่าทางบึกบึน เถียงอย่างไม่ยอมแพ้
“เอาละ เล่ามาทีละคนซิว่าเรื่องเป็นอย่างไร เอ้าหนังยางเล่าก่อน”
พอหนังยางเล่าจบบ่าวก็เล่าบ้าง ครูบอกให้พี่เลี้ยงที่เป็นครูฝึกการฝีมือเล่าอย่างพยานคนกลาง
ยังไม่ทันที่พยานจะเล่าจบ บ่าวก็ถึงจุดระเบิด
พยานเท็จ อีพยานเท็จ แม่ง พยานเท็จ อี....”
(ข้อเขียนของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในหนังสือ “ชีวิตจริงที่หมู่บ้านเด็ก” หน้า ๑๙๑)

เด็กที่นั่นทุกคนมีบาดแผลทางใจที่ล้ำลึก ยากแก่การเยียวยา เพราะเป้าหมายคือ
การนำเด็กกำพร้าที่มีปัญหามาเข้าโรงเรียน ปัญหาของโรงเรียนหมู่บ้านเด็กจึงยากกว่าของ
โรงเรียนซัมเมอร์ฮิลมาก วิศิษฐ์ วังวิญญู สรุปไว้ชัดเจนว่า

“เด็กซัมเมอร์ฮิลเป็นเด็กชนชั้นกลางที่มีอันจะกิน และจะมีเด็กสหรัฐอเมริกาเกินกว่าครึ่ง
ด้วยซ้ำไป และต้องเข้าใจว่าเด็กชาวอเมริกันนั้นรวยกว่าเด็กอังกฤษ นี่แสดงให้เห็นว่า
เด็กที่มาเรียนซัมเมอร์ฮิลนั้นเป็นลูกคนรวย แต่เด็กที่หมู่บ้านเด็กเป็นเด็กกำพร้า ที่ญาติพี่น้อง
ไม่มีปัญญาจะส่งเสียให้เรียนอย่างกับเด็กอื่น ๆ ทั่วไปได้ เด็กนักเรียนของทั้งสองแห่งนี้
มีปัญหาทางจิตใจเช่นเดียวกัน แต่คนละแบบ คือ เด็กของซัมเมอร์ฮิลมีปัญหาแบบลูกคนรวย
แต่เด็กของหมู่บ้านเด็กมีปัญหาแบบลูกคนจน” นอกจากนั้นโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ยังตั้ง
เป้าหมายไว้สูงมาก คือ “ให้เด็กมีความกล้าหาญทางจริยธรรม... เป็นการกล้าเผชิญกับ
ความเป็นปฏิปักษ์ หรือการที่มีคนจงเกลียดจงชังมากกว่าที่จะให้ละเลิกการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
ข้อนี้นับว่าต่างจากนีลมาก เพราะนีลไม่เน้นเรื่องนี้ไว้ ...”
(“ชีวิตจริงที่หมู่บ้านเด็ก” หน้า ๖๒-๖๓)

ปัญหายาก เงินน้อย ซ้ำตั้งเป้าหมายไว้สูงกว่า จะไหวหรือ

๕.

เวลาผ่านไป ๔๐ ปี โรงเรียนหมู่บ้านเด็กสามารถยืนหยัดอยู่ได้ ซ้ำเจริญเติบโต สามารถ
ช่วยเด็กที่มีปัญหายากลำบากอย่างยิ่ง ที่ผ่านมือ ได้ราว ๑,๓๐๐ คน แต่ละคนออกไปเป็น
พลเมืองดี มีสัมมาชีพ หลายคนเรียนต่อจนจบปริญญาตรี มี ๑ รายจบปริญญาโท สาขา
คอมพิวเตอร์ มีบ้างบางรายที่ช่วยไม่สำเร็จ แม้จะใช้วิธีการหลากหลาย เช่น การเยียวยารักษา
โดยจิตแพทย์ ให้บวช ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เพราะแม้ในครั้งพุทธกาล ก็มีบางรายที่
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็แก้ไขไม่ได้ ดังกรณีวิฑูฑภะที่สุดท้ายก็ยกกองทัพไปฆ่า
ล้างโคตรวงศ์ศากยะจนได้ และต้องประสบวิบากกรรมอันเลวร้ายในเวลาต่อมา

อุทัย ดุลยเกษม ได้สรุปลักษณะของโรงเรียนหมู่บ้านเด็กว่ามีข้อแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป
ใน ๒ ด้านใหญ่ ๆ

ด้านแรก

ความเป็นโรงเรียนที่ใช้ปรัชญาของ เอ.เอส.นีล คือโรงเรียนซัมเมอร์ฮิล ที่ให้เสรีภาพที่แท้จริง
แก่เด็ก ให้เสรีภาพเป็นเครื่องเยียวยาปัญหาของเด็ก และให้เด็กเติบโต โดยกระบวนการ
เรียนรู้จากสภาพแวดล้อม “ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางอารมณ์และการเปลี่ยนแปลง
ทางพฤติกรรมของเด็กมากกว่าการพัฒนาทางด้านพุทธิศึกษา ดังที่โรงเรียนทั่วไปกระทำกันอยู่”

ด้านที่สอง

โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก มิได้เป็นโรงเรียนในความหมายที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ซึ่งเป็นเพียง
สถานที่จัดการด้านการเรียนการสอน การฝึกทักษะและการอบรมบ่มนิสัยให้แก่เด็กนักเรียน
แต่โรงเรียนหมู่บ้านเด็กเป็นชุมชน (Community) ที่พยายามจัดสภาพแวดล้อมให้เกื้อกูลแก่
การพัฒนาทางอารมณ์ ร่างกาย สติปัญญา และจิตใจของเหล่าสมาชิกในชุมชน ทั้งที่เป็นเด็ก
และผู้ใหญ่ กิจกรรมด้านการศึกษาเป็นเพียงกิจกรรมอันหนึ่งในบรรดากิจกรรมด้านอื่น ๆ ของ
ชุมชนแห่งนี้ เช่น กิจกรรมด้านหัตถกรรม ศิลปกรรม เกษตรกรรม การละเล่น การดำรงชีวิต
[“ชีวิตจริงที่หมู่บ้านเด็ก” หน้า (จ)-(ช)]

ความฝันของพิภพและคณะในการสร้างหมู่บ้านเด็ก ก็คือ การสร้างชุมชนพุทธ ตามแนวคิด
ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ตั้งแต่ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชวรมุนี
นอกจากนั้นยังพยายามเดินตามแนวทางเกษตรธรรมชาติของมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า บุคคลสำคัญที่สุดในการสร้างและพัฒนาหมู่บ้านเด็กมาตั้งแต่ต้น คือ
พิภพ ธงไชย โดยการสนับสนุนอย่างสำคัญของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ปัจจัยความสำเร็จของ
พิภพ อยู่ที่เหตุปัจจัยหลายประการ

ประการแรก

พิภพเริ่มงานนี้เมื่ออินทรีย์ “แก่กล้า” พอสมควร ทั้งด้านความคิดทางการศึกษา และการ
สั่งสมประสบการณ์

พิภพไม่แตกฉานภาษาอังกฤษ แต่ข้อจำกัดนี้ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับพิภพแต่อย่างใด
เพราะพิภพมีกัลยาณมิตรมากมาย และแนวคิดของนีล พิภพได้จากหนังสือที่ รังสรรค์
ธนะพรพันธุ์ มอบให้ แล้วชวนคนอื่น ๆ เช่น สมบัติ พิศสะอาด วิศิษฐ์ วังวิญญู เตือนตา
สุวรรณจินดา สมบูรณ์ ศุภศิลป์ มาช่วยแปล ทำให้พิภพสามารถศึกษาความคิดของนีลได้
จนแตกฉาน

นอกจากนีลแล้ว พิภพยังศึกษาความคิดของนักการศึกษาที่ “ทวนกระแส” จำนวนมาก เช่น
หนังสือ “ที่นี่ไม่มีโรงเรียน” ของไอวาน อิลลิช “การศึกษาของผู้ถูกกดขี่” ของเปาโล แฟรเร
และประสบการณ์ของอีกหลายๆ คน เช่น แพทย์หญิงมาเรีย มอนเตสซอรี่ ในอิตาลี
รูดอล์ฟ สไตเนอร์ ในเยอรมนี เลียฟ ตอลสตอย ในรัสเซียผู้เขียนหนังสือ “On Education”
และคุรุเทพ รพินทรนาถ ฐากูร ผู้ตั้งมหาวิทยาลัยวิศวภารดี ที่ศานตินิเกตัน พิภพจึงมีความ
แตกฉานในเรื่องการศึกษาทางเลือก (Alternative Education) ก่อนที่จะลงมือทำ เมื่อ
ประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย จึงสามารถฟันฝ่ามาได้

ประการที่สอง

ก่อนจะไปทำหมู่บ้านเด็ก พิภพผ่านงานมาแล้วมากมาย โดยเฉพาะงานหนังสือ เช่น
เป็นบรรณาธิการปาจารยสาร ร่วมทีมทำหนังสือจตุรัส กับพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ร่วมทีมทำ
ประชาชาติรายสัปดาห์ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ วิทยาสาร วิทยาสารปริทัศน์ ชาวบ้าน ศูนย์ศึกษา
รวมทั้งเคยทำงานเป็นครูด้วย สมัยเป็นนักศึกษาก็เป็นนายกองค์การนักศึกษา พิภพจึงมีเพื่อน
และมีเครือข่ายมากมาย

การที่ท่านโฮจิมินห์สามารถเป็นผู้นำขบวนการกู้ชาติเวียดนาม เอาชนะทั้งฝรั่งเศสและ
สหรัฐอเมริกาได้ เพราะท่านเริ่มทำงานโดยร่วมขบวนการสากลนิยมในระดับนานาชาติ
จนอายุประมาณ ๔๐ ปี จึงกลับมาเคลื่อนไหวในประเทศ เมื่ออินทรีย์แก่กล้าและมีประสบการณ์
มากพอแล้ว

ประการที่สาม

พิภพมีอุดมคติในชีวิตชัดเจน วิศิษฐ์ วังวิญญู บันทึกไว้ว่า “คุณพิภพเคยบอกกับข้าพเจ้าว่า
ชีวิตของเขา เขาไม่ได้มุ่งหวังความดีเลิศอะไร เขาไม่ได้มุ่งที่จะเป็นนักบุญ หรือผู้เสียสละที่
ยิ่งใหญ่ เขามีหลักแต่เพียงว่า ชีวิตของเขาจะไม่ก้าวถอยหลัง คือจะไม่ยอมให้วิถีชีวิตดำเนินไป
ในทางเลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”

อุทัย ดุลยเกษม เพื่อนสนิทของพิภพ ที่ปลูกบ้านอยู่ในรั้วเดียวกันที่นครปฐม จึงใกล้ชิดกับ
พิภพมาก เคยบอกว่า พิภพเป็นคนสะอาดมาก ของบริจาคให้หมู่บ้านเด็กที่กองเต็มบ้าน
พิภพไม่เคยหยิบฉวยไปเป็นของตนเองหรือครอบครัวเลย

ประการที่สี่

พิภพมีภาวะผู้นำและมีศิลปะในการจูงใจคนที่สูงยิ่ง หลายสิบปีมาแล้ว พวกเรามีโครงการ
ทำประวัติชีวิตของศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว แต่พอทำไปได้ระยะหนึ่ง
ท่านอาจารย์เสมขอให้ยุติ เพราะเกรงจะเป็นการโอ้อวดตนเอง

พวกเราพยายามทุกทางที่จะโน้มน้าวใจให้ท่านอาจารย์เสมเปลี่ยนใจยอมให้ทำต่อ เข้าหา
ภรรยาท่านก็แล้ว ให้ผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนช่วยพูดอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ทำให้งานนี้ค้างคาอยู่
เกือบ ๔ ปี ซึ่งถ้าทำต่อไม่ได้ก็น่าเสียดาย เพราะประวัติชีวิตของ อ.เสม เชื่อมโยงใกล้ชิดกับ
พัฒนาการด้านสาธารณสุขของประเทศในเรื่องที่สำคัญหลายเรื่อง เช่น การสร้างโรงพยาบาล
จังหวัดทั่วประเทศสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม การสร้าง ผสส. อสม. การสร้างโรงพยาบาล
อำเภอและสถานีอนามัยทั่วประเทศสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่ในที่สุด งานนี้ก็เดินต่อ
ได้จนสำเร็จ เมื่อผู้เขียนขอให้พิภพลองช่วยพูดกับ อ.เสม ไม่น่าเชื่อ อ.เสม อนุญาต
ทำให้หนังสือเล่มนี้สำเร็จลงได้ พิภพจำไม่ได้แล้วว่าไปพูดอย่างไร อ.เสม จึงยอม แต่เข้าใจว่า
ได้ชี้แจงยืนยันท่าน อ.เสมว่า วัตถุประสงค์ของหนังสือมิใช่การเชิดชูบุคคล แต่มุ่งบันทึก
เหตุการณ์สำคัญทางการสาธารณสุข ซึ่งถ้าไม่บันทึกไว้ก็น่าเสียดาย เพราะคนรุ่นหลัง
จะเสียประโยชน์

ประการที่ห้า

เพราะพิภพมี “แอ๊ว” ครูรัชนี อยู่เคียงข้าง แอ๊วเป็นทั้งศรีภรรยา แม่ของลูก และเป็นครูใหญ่
ที่เป็นแม่ของเด็กนักเรียนทุกคนที่หมู่บ้านเด็ก และทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้แก่งานนี้อยู่สุดจิต
สุดใจ

เมื่อพิภพเขียน “พาแม่กลับบ้าน” พิภพเขียนถึงแอ๊วไว้สั้น ๆ แต่จับใจมากว่า

“ถ้าไม่เขียนถึงแอ๊วกับแม่ หนังสือเล่มนี้ก็ดูจะขาดสิ่งสำคัญไป เพราะในช่วงบั้นปลายชีวิตแม่
แม่จะอยู่กับแอ๊วมากที่สุด แอ๊วจะดูแลอาหารการกิน ความเป็นอยู่ การรักษาพยาบาล
แม้แต่ค่าใช้จ่ายประจำวันของแม่ แอ๊วก็ช่วยจ่ายโดยไม่คิดว่านี่เป็นแม่สามี ลูกชายต้องจ่าย
ฝ่ายเดียว อะไรขาดเหลือแอ๊วจัดการให้หมด นิสัยแบบนี้ แอ๊วคงรับมาจากแม่หวาน
(โชติกล่อม) ที่เป็นแม่ของตัวเอง ที่สอนให้แอ๊วต้องเห็นสามีตัวเองสำคัญที่สุด สิ่งดี ๆ
ต้องให้สามีก่อน เรื่องแบบนี้จึงถ่ายทอดมาที่แม่สามีด้วย แต่ธรรมชาติของความรัก
ความเมตตาในตัวแอ๊ว ก็น่าจะเป็นพื้นฐานพฤติกรรมของแอ๊วมากกว่าอะไรอื่น

“แม่จึงรักลูกสะใภ้คนนี้มากเป็นพิเศษ นอกจากเป็นคนใกล้ชิดแม่มากที่สุด อยู่กับแม่
ทั้งสามวันก่อนหมดลมหายใจ นอกจากนี้โดยท่าทีของแอ๊วที่เป็นคนมีอารมณ์ขันและเข้าใจ
ความรู้สึกของคนแก่ จึงเข้ากับแม่ได้ดี ถึงแม้บางครั้งแม่จะดุหรือเรียกร้องจากแอ๊วมากเกินไป
ก็เพราะความเหงามากกว่า หรือความเอาแต่ใจตัวเองแบบคนแก่ แม่เองก็ไม่มีท่าทีแบบแม่ผัว
กับลูกสะใภ้ และก็รู้สถานะว่า มาพึ่งลูกสะใภ้คนนี้มากกว่าลูกตัวเอง ทั้งการที่แอ๊วปฏิบัติต่อ
เด็กๆ ในหมู่บ้านเด็กประหนึ่งเป็นลูกของตัวเอง แม่ก็เห็นอยู่และให้การยอมรับมาก แม่จึงมี
ความสุขที่อยู่หมู่บ้านเด็กกับลูกสะใภ้คนนี้ จึงอยู่ได้ยาวนับสิบปี แต่นั่นแหละ ยังไงก็ไม่เหมือน
อยู่ในชุมชนเดิม ในถิ่นที่ตัวเองเกิด แม่จึงบ่นอยากกลับบ้านป่าโมกบ่อย ๆ”

๖.

อีก ๖ อาทิตย์ จะถึงวันแม่

Education, Love
and Empowerment 
At A Remarkable School
in The Jungle of Thailand


-๑-

ผมมีโอกาสดูหนังสารคดี "6 Weeks to Mother’s Day” ผมเป็นคนอ่อนไหว (sensitive) 
และ บ่อน้ำตาตื้นตลอดเวลาที่นั่งดูจนจบ ผมน้ำตาไหลพรากหลายครั้งด้วยความสะเทือนใจ 
และตื้นตันใจ

ความสะเทือนใจแรกจากการที่ทราบว่า มาร์วิน บลันท์ (Marvin Blunte) ชาวแคนาดา ผู้กำกับหนังเรื่องนี้
ใช้เวลาถึง ๕ ปี ติดตามถ่ายทำจากของจริงในโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก

ยืนยันถึงความเป็น ของจริง ของแท้ของโรงเรียนหมู่บ้านเด็กแห่งนี้ ที่เกิดจากความรัก ความศรัทธา 
และความเป็น มืออาชีพอย่างแท้จริง ของทุกๆ คนที่มีส่วนสร้างสรรค์สถานที่แห่งนี้มาตั้งแต่ต้น
จนถึงปัจจุบัน

เวลาห้าปีย่อมยาวนานพอที่จะทำให้มาร์วินเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง และย่อมก่อให้เกิดทั้งความภาคภูมิใจ
และความสะเทือนใจได้มาก

หนังเรื่องนี้มี "แอ๊ว" หรือ "ครูรัชนี" เป็นนางเอก "พิภพ" ซึ่งควรจะเป็นพระเอก แต่เป็นเพียง
ตัวประกอบเล็กๆ ที่ผ่านเข้ามาในฉากที่ไม่สำคัญเท่านั้น คงมิใช่เพราะคุณลดาวัลย์ โปรดิวเซอร์หนัง
เรื่องนี้เป็นผู้หญิง แต่คงเป็นเพราะช่วงสิบกว่าปีมานี้ พิภพมิได้ทุ่มเทเวลาให้แก่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก 
เหมือนในช่วงแรกๆ

จึงถูกต้องแล้วที่หนังสารคดีเรื่องนี้ชี้ให้เห็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของ "แอ๊ว" เพราะแม้ในช่วง ๔ ปีแรก 
ที่พิภพทุ่มเทเวลาให้แก่โรงเรียนหมู่บ้านเด็กอย่างมาก พิภพก็ยอมรับอย่างชัดเจนว่า

ความสำเร็จที่สำคัญอยู่ที่ความขยันและความอดทนของนางรัชนี ธงไชย ผู้ที่เป็นครูใหญ่ ปฏิบัติการจริง
ในโรงเรียนอยู่เสียเป็นส่วนใหญ่

-๒-

คงไม่ผิดที่จะกล่าวว่า ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจทำงานนี้คือ พิภพ ที่ยอมทุ่มเทชีวิตเพื่อ 
"ทำงานแห่งชีวิตด้วยอุดมการณ์ ความรักและความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในสิ่งที่จะทำ 
โดยมีภาวะผู้นำสูงยิ่ง สามารถโน้มน้าวให้ครูรัชนี-คู่ชีวิต เดินตามความฝัน โดยครูรัชนีมีความเป็นครู
โดยจิตวิญญาณ และมีความรักที่ยิ่งใหญ่ เบื้องต้นคือ รักสามี รักแม่สามี รักลูกทุกคนทั้งลูกตัว
และลูกศิษย์นับร้อยนับพันที่ล้วนเป็นเด็ก เหลือขอที่สามารถบ่อนเซาะความรักของแม่ทั่วๆ ไป
ลงได้มาก

แต่ครูรัชนีมีความรักอันยิ่งใหญ่ประดุจขุนเขา ที่พายุอารมณ์อันรุนแรงของเด็กที่มีปัญหาจำนวนมากมาย
ไม่สามารถทำให้ภูเขาแห่งความรักของครูรัชนีโยกคลอนได้

พิภพยังมีสิ่งที่คนทำงานในภาคประชาสังคมมักขาด คือความสามารถในการบริหารจัดการ
ทั้งด้านการระดมทุนจากผู้คนมากมายในประเทศและการบริหารจัดการองค์กรจนเติบใหญ่
และมีรากฐานมั่นคง แตกกิ่งก้านสาขาออกไปจนเป็นพุ่มพฤกษ์ใหญ่ได้ยาวนานถึงสี่ทศวรรษแล้ว 
แม้จะหลบเร้นไปทำงานการเมืองภาคประชาชน เป็นเวลายาวนานไม่น้อย แต่พฤกษาต้นนี้ก็ยังยืนเด่น
เป็นร่มเงาให้แก่เด็กที่ทุกข์ยากได้พักพิงเพื่อการเติบโตต่อไป รวมทั้งเป็นที่ทดสอบอุดมการณ์ ความรู้ 
ความสามารถของผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก

อุดมการณ์หลักของนีลคือ "เสรีภาพ" แต่ครูรัชนีก็ค้นพบทั้งด้วยตนเอง และจากงานวิจัย
ตั้งแต่ในระยะแรกๆ ว่า ปัญหาของเด็กที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็กนั้น ลำพังเพียง "เสรีภาพ" ไม่พอ
ที่จะเยียวยาบาดแผลชีวิตของเด็กได้ แต่ต้องมียาสำคัญอีกขนานคือ "ความรัก"

ดังครูรัชนีได้ไปแสดงปาฐกถาของมูลนิธิโกมลคีมทอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เรื่อง 
"อารมณ์ ความรักและเสรีภาพ" ซึ่งปีนั้นจัดที่วัดทองนพคุณ (คลองสาน)

วิศิษฐ์ วังวิญญู ชี้ชัดว่า นีลเป็นคนที่รักเด็กมาก แต่นีลเขียนไว้ตอนบั้นปลายของชีวิต
ในคำนำหนังสือ ชีวิต เสรีภาพ ซัมเมอร์ฮิลเมื่อปี ๒๕๑๖ (โรงเรียนซัมเมอร์ฮิลก่อตั้งเมื่อ ๒๔๖๔) ว่า

ท่าน .... สามารถจะต่อสู้ด้วยวิธีทางธรรมชาติ การยอมรับ และความละมุนละไม ความอดกลั้น .... 
ข้าพเจ้าลังเลที่จะใช้คำว่า รักเพราะว่ามันอาจจะเป็นคำที่เกือบสกปรก เช่นที่ชาวแองโกลแซกซอน
ผู้ซื่อสัตย์และปราศจากมลทินชอบใช้

ต้นตำรับของโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก คือ นีล ลังเลที่จะใช้คำว่า รักแต่หัวใจสำคัญของโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก 
คือ "ความรัก" ที่ครูรัชนีนำมาใช้อย่างไม่ลังเล

-๓-

เมื่อแรกก่อตั้งโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก พิภพ รัชนี และอุทัย ได้มีโอกาสไปเยือนโรงเรียนซัมเมอร์ฮิลที่อังกฤษ
ช่วงนั้นนีลเสียชีวิตไปแล้วราว ๑๐ ปี โรงเรียนซัมเมอร์ฮิลบริหารงานโดยภรรยาของนีล กำลังอยู่ในสภาพ

ร่วงโรย มีเด็กอยู่ ๕๗ คน ผู้ปกครองติดค้างค่าเล่าเรียนจำนวนมาก ทำให้รายได้ของโรงเรียนไม่พอ
กับรายจ่าย ต้องรัดเข็มขัดกันอย่างหนัก ตอนนั้นซัมเมอร์ฮิลก่อตั้งมาแล้วราว ๖๐ ปี

โรงเรียนหมู่บ้านเด็กอายุกำลังจะย่างเข้า ๔๐ ปี หนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ 
แต่ตลอดร่วม ๔๐ ปีที่ผ่านมา พิภพ ธงไชยและครูรัชนี รวมทั้งกัลยาณมิตรทั้งใกล้ไกล 
ได้สร้างตำนานอันงดงามขึ้นแล้ว และเป็นดังที่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ พูดไว้ในปัจฉิมกถา
ในการปิดฉายหนังที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันพุธที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๑ ว่า

"พิภพทำหมู่บ้านเด็กได้ดีกว่าซัมเมอร์ฮิลของนีล เพราะนอกจากโรงเรียนที่สามารถแก้ปัญหา
ที่ยากกว่าได้มากมาย ยังสามารถทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมสนับสนุนโรงเรียนได้อย่างกว้างขวาง
และต่อเนื่องยาวนาน และยังมีโครงการมากมายที่เกี่ยวเนื่องภายใต้ร่มเงามูลนิธิเด็ก"

เช่น ศูนย์การเรียนมัธยมหมู่บ้านเด็ก สวนสองสมเด็จฯ โครงการหุบเขาแห่งอุดมคติ 
โครงการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กให้เป็นโรงเรียนดีของชุมชน เครือข่ายโรงเรียนในบ้าน (Home School) 
และเครือข่ายโรงเรียนทางเลือก (Alternative School) ของพ่อแม่ชนชั้นกลาง สำนักพิมพ์หนังสือเด็ก 
สำนักพิมพ์การ์ตูนไทย โครงการตู้หนังสือในบ้านเด็ก โครงการรถเข็นนิทานในหอผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาล 
โรงเรียนอนุบาลหมู่บ้านเด็กสานรัก และสานต่อบ้านทานตะวัน จากคุณศิริพร สะโครบาเนค 
รวมทั้งศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เป็นต้น และยังเอื้อเฟื้อไปยังมูลนิธิอื่นๆ อีกหลายแห่ง

สาย สีมา ใช้เวลาสั้นๆ สร้างฉากเหตุการณ์ที่บ้านเจ้าคุณพ่อของรัชนี แต่พิภพกับครูรัชนีใช้เวลาถึง ๔๐ ปี 
สร้างตำนานยิ่งใหญ่ในหมู่บ้านเล็กๆ

ที่หลุมศพของนีลที่ซัมเมอร์ฮิล มีคำจารึกสั้นเพียงว่า เอ.เอส.นีล ผู้ก่อตั้งโรงเรียนซัมเมอร์ฮิล” (A.S.Neill
Founder of Summerhill School)

หลายคนคงตั้งคำถามถึงอนาคตของหมู่บ้านเด็ก สำหรับผมเห็นว่า พิภพกับแอ๊ว ยังต้องดูแลหมู่บ้านเด็ก
ต่อไป เพราะทั้งคู่ยังแข็งแรงและมีพลังโดยเฉพาะพลังความรู้ ปัญญา บารมี และความรักอันยิ่งใหญ่

ต้องทำงานนี้ต่อไปอย่างน้อยอีก ๒๐ ปี ให้ได้อย่างมหาเธร์ ที่อายุ ๙๓ ปีแล้ว ยังเป็นผู้นำประเทศ
ได้อย่างเข้มแข็ง องอาจ และสง่างาม

นายแพทย์วิชัย  โชควิวัฒน
ประธานมูลนิธิ ๑๔ ตุลา.
ประธานมูลนิธิโกมลคีมทอง
๕ ตุลาคม ๒๕๖๑

ปล. วิชัยเขียนเรื่องนี้ยาวถึง ๙ ตอน โดยใช้ชื่อเรื่องว่า "จากสาย สีมา ถึงพิภพ ธงไชย และครูรัชนี"
เหตุเพราะผมมักอ้างโดยทราบกันทั่วไปว่า หนังสือ "ปีศาจ" นั้น มีอิทธิพลกับผมมาก มาตั้งแต่ก่อน
ปี ๒๕๐๙ จึงมุ่งหาผู้หญิงแบบ "รัชนี" นางเอกในเรื่อง จนเจอและให้เผอิญชื่อ "รัชนี" เสียด้วย

และตามท้องเรื่อง ทั้งคู่ก็ออกไปทำงานในชนบท เฉกเช่นที่ผมกับแอ๊วตัดสินใจไปสร้างโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก
ในป่าเมืองกาญฯ ริมฝั่งแควน้อย ตามคำแนะนำของ "พี่หนูใหญ่" เพื่อนสนิทอาจารย์ประเวศ ที่บ้านท่าเสา 
อำเภอไทรโยค

โดยในขณะนั้นไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร ด้วยแรงสนับสนุนจากเพื่อนที่ชื่อ วอลเตอร์ สะโครบาเนค 
ผู้ประสานงานองค์การแตร์ เด ซอม เยอรมนี เพียงคำพูดที่ว่า

"พิภพอยากทำโรงเรียนแบบนี้ไหม"

ด้วยทุนเริ่มต้นไม่ถึงล้านบาท หลังจากหนังสือ "เรียนตามสบายที่ซัมเมอร์ฮิล" ตีพิมพ์ออกไปอย่างแพร่หลาย

ในบทความ วิชัยยกเรื่อง "ความรัก" ของแอ๊ว ว่าเป็นยาสมานแผล อันเป็นปมมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่
เด็กเหล่านี้ ในชีวิตจริงก็มีเรื่องแบบนี้จริงๆ ขอให้ไปดูหนังเรื่อง The Blind Side

ฉบับเต็มที่หมอวิชัยเขียน จะลงตามมา แต่ฉบับนี้คัดมาเฉพาะแนะนำหนัง "6 Weeks to Mother's Day" 
ให้อ่านกันก่อน

FB.PD. : Pibhop Dhongchai, Editor
Tel. 02-814-1481


วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

๑ ไร่ ๑ แสน


๑ ไร่ ๑ แสน

สรุปการบรรยายย่อของอาจารย์อดิศร พวงชุมพู
๒๙ เมษายน ๒๕๕๕
๐๘.๐๐ - ๑๘.๐๐ น.
ณ สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(องค์การมหาชน)
ผู้เข้าร่วมครูใหญ่หมู่บ้านเด็ก กรรมการเลขานุการ ครอบครัวช่างหมู่บ้านเด็ก ครู พนักงานมูลนิธิเด็ก ๒๕ คนและชาวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วยแนะนำของพธม.สมุทรสาคร(คุณบุญชัยและคุณดวงดาว)คุณทองแท่ง ชูวาธิวัฒน์ ผู้แทน ผอ.สำนักงานพิพิธภัณฑ์ฯ
-------------------------------------------------------------------------------------------

- ใครบ้าง ? ทำให้ชาวนาจน !
- ธรรมชาติ (ฝนแล้ง น้ำท่วม)
- พ่อค้า กดราคา โกงตาชั่ง (ข้าวช่ื้นกับข้าวปน ทำให้ถูกกดราคา)
- ชาวนา ตกเป็นทาสอุบายมุข ๖ ดื่มน้ำเมา เที่ยวกลางคืน ดูการละเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร
เกียจค้านการงาน
- รัฐบาล (จำนำ ประกัน สร้างเป้าเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ชาวนาญี่ปุ่นไม่สนใจ)

- ทำนา ๑ ไร่ได้เงิน ๑ แสน
- ข้าวเปลือก - ข้าวสาร - รำ - แกลบ - ปลายข้าว
- โรงสี อ้างว่าสีฟรี แต่ได้ข้าวกลับมาเท่าไรไม่รู้(ตัวอย่าง ส่งข้าวเปลือกไปสี ๓๐ กก.ควรจะได้ข้าวสาร ๒๑ กก. แต่กลับได้เพียง ๑๔ กก.ขาดไป ๗ กก.)
- ฟาง ชาวนาชอบเผาแทนที่จะแปลงเพิ่มผลผลิต เช่นทำปุ๋ยก้อน
- การเพิ่มผลผลิตในนา
- คันนา ปลูกตะไคร้ พริกขี้หนู
- พืชน้ำ
- สัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา กบ
- การจัดความสมดุลย์ธรรมชาติจะเกิดอาหารธรรมชาติ(ตัวอย่างเช่น สัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็ก พืชธรรมชาติ
- การจัดการเศษอาหาร เศษผัก ฝางทำปุ๋ยปนขี้เป็ดจากการปูพื้นเลี้ยงเป็ด ปลานิลกินขี้เป็ด หอยขมกินขี้เป็ดขี้ปลา
- นา ๑ ไร่เลี้ยงเป็ด ๕๐ ตัวจะไข่ได้วันละ ๔๐ ฟอง
- ปลากินแพลงก์ตอน(Plankton)เขียว
- ทำนา ๑ ไร่ใช่ว่าจะได้เงิน ๑ แสนแต่ได้แม่กลับบ้าน ได้ลูกกลับมาด้วย
- เกษตรทฤษฎีใหม่ แบ่งแปลงนาเป็นสี่ส่วน จากตรงนี้ประยุกต์ใช้ทำเป็นคูน้ำลึกรอบแปลงนาทำให้แยกการทำนาและเลี้ยงปลาได้เป็นส่วนๆรวมทั้งการปลูกพืชผักบนคันนา
- หอยเชอลี่ตัวเล็กเป็นอาหารเป็ดเม่ือปล่อยเป็ดลงนาจะจัดการหอยจนไม่เป็นภัยแก่ข้าวส่วนตัวใหญ่จับส่งขายโรงงาน
- ทำนาให้ครบวงจร พึ่งพากันเป็นอาหารซ่ึงกันและกัน
- รู้จักจุลินทรีย์ที่มีสองชนิดคือต้องการแสงenterobacterกับcrebsillaฃ่ึงไม่ต้องการแสง นั่นคือรู้จักธรรมชาติของสรรพส่ิงทั้งที่เป็นส่ิงมีชีวิตและไม่มีชีวิตและดูส่ิงที่มีในท้องถ่ิน กลุ่มจุลินทรีย์ที่สร้างกอข้าว
- ใช้ไฟนีออนจับแมลงให้ปลากินในบ่อปลา
รอบบ่าย

- ทุนทั้ง ๗
- เวลา - แรง - ความรู้ - ปัญญา - ความคิดสร้างสรรค์ - ทุนทางสังคม - เงิน
- ขงจื้อกล่าวว่า "รู้แล้วไม่ทำสูญเปล่า ไม่รู้แล้วทำอันตราย" ปัจจุบันชาวนาขาดความรู้ จึงทำนาโดยไม่รู้จึงมีแต่หนี้สินซ่ึงอันตรายกับชาวนา
การใช้เงินเป็นตัวนำ ทำให้ทำลายทุนส่วนอื่นๆหมดไป
- ธกส.ใช้วิธีแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรโดย ๕ ย. คือ ยืม ยึด ยืด ย้าย หยุด อ.อดิศรเสนอเพิ่มผลผลิตในโครงการ ๑ ไร่ ๑ แสน เพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน กำลังจะเริ่มโครงการ ๑ ไร่สามารถดูแลคนในครอบครัวได้ ๘ คน จะเริ่มโครงการปีเรียก โครงการชาวนาเลิศ
- ข้าวสีดำจะมีธาตุต่างๆสูง โดยเฉพาะข้าวหอมนิล ปัจจุบันพบข้าวสีดำ ๖ ชนิด ข้าวสีเหล็กจะลดน้ำตาลในเลือด
- ยุทธศาสตร์พระเจ้าตากท้ิงอยุธยาไปยึดเมืองจันทร์ไกลจากอยุธยาและพม่า แล้วกลับมาตั้งกรุงธนบุรีเพื่อยึดประเทศไทยคืนไม่ใช่เพียงกรุงศรีอยุธยา เปรียบเทียบทำ ๑ ไร่ ๑ แสนคือการยึดเมืองจันทร์เป็นฐานเพื่อยึดประเทศไทยคืน ไม่ใช่กลับไปยึดกรุงศรีฯ นี่คือการเปลี่ยนกระบวนทัศน์
- วิถีจักรพรรดิ์
- คิดการใหญ่
- มีแผนกลยุทธ
- มีสติ ปัญญา เฉลียว ฉลาด ล้ำเลิศ
- มีปณิธานย่ิงใหญ่

๑๖.๐๐ น. เข้าดูที่นา ซึ่งเป็นนาปลัง
- Contract Farming (เกษตรพันธสัญญา)เป็นวีธียึดที่ดินเพื่อสร้างผลผลิดด้านอาหารจากประเทศรวยต่อประเทศจน เช่นในเขมรและไทย